ฉะเชิงเทรา - สหกรณ์ผู้เลี้ยงปลาสลิดแปดริ้ว
เตรียมแปรรูปสินค้าพร้อมชิมสร้างเป็นจุดขาย เสริมความแข็งแกร่งด้านการแข่งขัน
ก่อนก้าวเข้าสู่เวทีการค้าเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ควบคู่กับการอนุรักษ์อาชีพพื้นถิ่นดั้งเดิมก่อนสูญสลาย
วันที่ 16 ม.ค.56
ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการเตรียมความพร้อมต่อการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของภาคเกษตรกรรมเพื่อความอยู่รอดของอาชีพประจำถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่
จ.ฉะเชิงเทรา ว่า นายอาทร ผดุงเจริญ อายุ 53 ปี
ที่ปรึกษาสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลาสลิด และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา (จำกัด) ตั้งอยู่เลขที่ 99/5 ม.4 ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
ได้เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อม และพัฒนาอาชีพด้านประมงน้ำจืด ของชาว อ.บางปะกง
เพื่อก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หวังเสริมเป็นจุดแข็งทางด้านการแข่งขันของสินค้าภาคเกษตร
และเป็นช่องทางออกของอาชีพประมงน้ำจืดที่กำลังจะสูญสลายไป
ให้คงอยู่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นต่อไป
นายอาทร
กล่าวว่า เดิมทีอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสลิดซึ่งเป็นปลาน้ำจืดประจำถิ่นนั้นเป็นอาชีพหลักของชาวคลองด่าน
อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ แต่มีเกษตรกรชาว อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
ส่วนหนึ่งนั้นยึดเป็นอาชีพหลักร่วมกับชาวคลองด่านด้วย
เนื่องจากเป็นพื้นที่ระหว่างรอยต่อของจังหวัดที่คาบเกี่ยวกันจนมาถึงในปัจจุบันนี้
เกษตรกรในเขตพื้นที่ อ.บางบ่อ ได้มีจำนวนลดน้อยลงมากจนเหลือพื้นที่การผลิตเพียงประมาณ
400-500 ไร่
เนื่องจากประสบปัญหาด้านการเพาะเลี้ยง
ทั้งน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่น้ำจืดในระบบชลประทานแห้งขอดหายไปอย่างรวดเร็ว
รวมทั้งน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรม
และด้านตลาดการจำหน่ายสินค้าจึงทำให้ยังคงเหลือเกษตรกรที่ประกอบอาชีพนี้อยู่เพียงไม่เกิน
50 ราย
ขณะที่ในเขตพื้นที่ อ.บางปะกง
นั้นได้เกิดความตื่นตัวในด้านการอนุรักษ์อาชีพพื้นถิ่นขึ้นมาก่อนด้วยการตั้งเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลาสลิด
และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา โดยตั้งขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ วันที่ 22 พ.ย.2552 หลังจากพบว่า เกษตรกรได้เริ่มละทิ้งอาชีพดั้งเดิม
และหันไปประกอบอาชีพใหม่แทน
จึงทำให้ในขณะนี้ยังคงมีผู้ประกอบอาชีพเพาะเลี้ยงปลาสลิดอยู่ในพื้นที่ประมาณกว่า 1 พันราย และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหกรณ์แล้วกว่า 300 ราย บนเนื้อที่เพาะเลี้ยงกว่า 3 หมื่นไร่
เพื่อร่วมกันหาทางรอดต่ออาชีพประจำถิ่นดั้งเดิมที่กำลังจะสูญสลายไปด้วยการแปรรูปสินค้าจากเดิมที่เกษตรกรเคยขายปลาสลิดที่ตักขึ้นมาจากปากบ่อในราคา
กก.ละ 45-50 บาท หรือทำปลาสลิดตากแห้ง แล้วขายได้ในราคา
กก.ละ 70 บาท
นายอาทร กล่าวต่อว่า
ขณะนี้มีการแปรรูปให้เป็นสินค้าพร้อมชิม
หรือสินค้าปรุงสุกแล้วพร้อมเสิร์ฟบริโภคได้ในทันที
จึงทำให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย กก.ละ 350 บาท
หรือหากส่งเข้าไปขายยังในตลาด กทม.จะขายได้ถึง กก.ละ 550-600
บาท ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ทางสหกรณ์พร้อมกลุ่มชาวบ้านร่วมกันแปรรูปขึ้นมานั้น
ประกอบด้วย
ปลาสลิดทอดกรอบ ปลาสลิดแดดเดียว ไส้กรอกปลาสลิด น้ำพริกปลาสลิด ปลาสลิดอบสมุนไพร
และผลิตภัณฑ์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา คือ การแปรรูปเป็นขนมขบเคี้ยว
โดยจะมีการพัฒนาด้านการบรรจุภัณฑ์ให้มีแบรนด์ตราสินค้า
และสร้างมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่สามารถตรวจสอบย้อนหลังกลับมาจนถึงฟาร์มผู้ผลิต
หรือบ่อเพาะเลี้ยงได้ โดยใช้ระบบ RFID ด้วยการมีลาเบล
และบาร์โค้ดติดอยู่ที่ซองบรรจุผลิตภัณฑ์เพื่อให้เป็นสินค้าที่จะนำออกไปขายสู่นานาชาติได้
เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรก่อนที่ประเทศของเราจะก้าวเข้าสู่เวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
หรือเออีซี ที่กำลังจะมีขึ้นในอีกระยะ 2 ปีข้างหน้า
การพัฒนาระบบฟาร์มให้เป็นมาตรฐานแบบ “GAP” หรือการปฏิบัติด้านการเพาะเลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะ
และมาตรฐานการผลิตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และมีการควบคุมการแปรรูปให้ได้มาตรฐาน “GMP”
หรือมีอาคารการผลิตที่มีมาตรฐานที่ถูกต้องตามมาตรฐานในกระบวนการผลิต
ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญทางด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์
และถือเป็นกำแพงกีดกันด้านการผลิตสินค้าส่งออกจำพวกอาหารของภาคเกษตรที่ผลิตโดยฝีมือชาวบ้านมานับตั้งแต่ในสมัยอดีต
ปัจจุบันนี้ สหกรณ์ผู้เลี้ยงปลาสลิด และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรานั้น
ได้ผลิตสินค้าตามออเดอร์
หรือตามคำสั่งซื้อที่อาจจะยังไม่แพร่หลายกระจายออกไปไกลมากนัก
ซึ่งต่อไปเราจะมีการพัฒนาทางด้านการทำตลาด
ด้วยการผลิตเป็นสินค้าคีออสก์นำออกไปตั้งบูทวางจำหน่ายสินค้าตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด
เช่น วัดโสธร วัดสมาน ฯลฯ รวมทั้งตามห้างสรรพสินค้า
ซึ่งจะมีเกิดขึ้นได้ในอนาคตหลังจากได้รับการตอบรับในตัวสินค้าจากทางห้างสรรพสินค้าบางแห่ง
(แม็คโคร) กลับมาแล้ว
นายอาทร
กล่าวว่า
สำหรับปัญหาที่เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในกระบวนการผลิตและแปรรูปสินค้าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องนั่นคือ
ผลผลิตของเกษตรกรที่ในหนึ่งปีนั้นเกษตรกรจะสามารถจับปลาขึ้นมาขายได้เพียงช่วงระยะเวลาแค่เพียง
4 เดือน คือ ช่วงระหว่างปลายเดือน
พ.ย.ถึงต้นเดือน มี.ค.เท่านั้น
เนื่องจากปลาสลิดนั้นจะต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงยาวนาน ระหว่าง 8-10 เดือน หรือเลี้ยงได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
จึงจะได้ผลผลิตที่ได้ขนาด
“ซึ่งปัญหา
และอุปสรรคนี้เรากำลังอยู่ระหว่างการหาทางที่จะพัฒนาให้เกษตรกรใช้ระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงสั้นลงให้เหลือเพียงแค่
6 เดือน หรือสามารถเพาะเลี้ยงได้ปีละ 2 ครั้งต่อ 1 บ่อ แต่ในขณะนี้
เรายังสามารถที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อนได้
ด้วยการนำปลาสลิดสดเข้าไปเก็บแช่แข็งไว้ในห้องเย็น”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น